Thai SDA Church

Smile to the World and the World will smile back at you.

Chapter 5: โดยพระคัมภีร์เท่านั้น

 

บทที่ 5 โดยพระคัมภีร์เท่านั้น

By Scripture Alone- Sola Scriptura

วันที่ 25 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2020

 

25 เมษายน

บ่ายวันสะบาโต   

อ่านข้อพระคัมภีร์สำหรับบทเรียนสัปดาห์นี้

1 โครินธ์ 4:1-6; ทิตัส 1:9; 2 ทิโมธี 1:13; มาระโก 12:10, 26;

ลูกา 24:27, 44, 45; อิสยาห์ 8:20

 

ข้อควรจำ

             “เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นมีชีวิต และทรงพลา-นุภาพอยู่เสมอ และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆ แทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูกและสามารถวินิจฉัยความคิด และความมุ่งหมายในใจด้วย” (ฮีบรู 4:12)

          คริสตจักรโปรเตสแตนต์ทั้งหลายต่างอ้างว่า “พระคัมภีร์เท่านั้น”(sola Scriptura) คือพระคัมภีร์เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว และเป็นแหล่งศาสนศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ซึ่งผิดกับศาสนศาสตร์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่เน้นทั้งพระคัมภีร์และธรรมเนียมประเพณี คำเน้นที่เป็นกุญแจของโปรเตสแตนต์คือ “หนึ่งเดียวเท่านั้น” (alone) นั่นคือ “พระคัมภีร์เท่านั้น” เป็นสิ่งที่มีสิทธิอำนาจสุดท้าย พระคัมภีร์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเรื่องความเชื่อและให้สิทธิอำนาจแก่การปฏิรูปของโปรเตสแตนต์เพื่อแยกตัวออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพราะเห็นว่าโรมันคาทอลิกได้สอนผิดไปจากพระคัมภีร์มาหลายศตวรรษ โปรเตสแตนต์ต่อต้านการตีความหมายแฝงของพระคัมภีร์ในจุดที่คำศัพท์แปลได้หลายความหมาย จะต้องแปลให้สอดคล้องกับข้อพระคัมภีร์อื่น นักปฏิรูปโปรเตสแตนต์จะเน้นในความสำคัญของการใช้หลักไวยากรณ์ตามประวัติศาสตร์การตีความของพระคัมภีร์ซึ่งจะให้เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ และความหมายตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด สัปดาห์นี้จะมองไปที่คำว่า “พระคัมภีร์เท่านั้น” (sola Scriptura) เพื่อเรียนรู้ว่า “พระคัมภีร์เท่านั้น” ที่แสดงถึงหลักการพื้นฐานของการตีความหมายพระคัมภีร์ที่จำเป็นพระวจนะของพระเจ้า ในฐานะที่เซเว่นธ์แอ๊ดเวนตีสซึ่งเป็นคริสตจักรโปรเตส-แตนต์คริสตจักรหนึ่ง เราจำเป็นต้องธำรงไว้ซึ่งการให้พระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจสุดท้ายในหลักคำสอนของคริสตจักร

 

26 เมษายน

วันอาทิตย์  

พระคัมภีร์เป็นบรรทัดฐานของความเชื่อ

Scripture as the Ruling Norm

 

          จากจุดเริ่มต้น เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสได้คำนึงถึงตนที่เป็นประชากรแห่งหนังสือ คือเป็นคริสเตียนที่เชื่อในพระคัมภีร์ ยึดมั่นในหลักการ “พระคัมภีร์เท่านั้น” เรายอมรับสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ไม่เหมือนใคร พระคัมภีร์เท่านั้นเป็นมาตรฐานของหลักศาสนศาสตร์ของเรา และเป็นสิทธิอำนาจสูงสุดสำหรับชีวิตและความเชื่อของเรา สิ่งอื่น เช่น ประสบการณ์ทางศาสนา เหตุผลของมนุษย์ หรือธรรมเนียมประเพณี ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นรอง หลักการ “พระคัมภีร์เท่านั้น” มีเจตนาจะปกป้องสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์จากการพึ่งพิง และในการตีความหมายของคริสตจักร ดังนั้นจึงตัดการตีความหมายพระคัมภีร์จากภายนอกออกไป

          อ่านพระธรรม 1 โครินธ์ 4:1-6 โดยเฉพาะข้อ 6 ที่กล่าวว่า “เราอย่าออกนอกขอบเขตของพระคัมภีร์” เพราะเหตุใดข้อความนี้จึงสำคัญต่อความเชื่อของเรา

          อย่าให้อะไรสำคัญมากไปกว่าพระวจนะที่เขียนไว้ นี่ไม่ได้หมายถึงปฏิเสธวิธีอื่น เช่น โบราณคดีทางพระคัมภีร์ หรือประวัติศาสตร์ หรือวิธีอื่นที่อาจให้ความกระจ่างบางประการได้ และศึกษาเบื้องหลังของพระคัมภีร์ตอนนั้น

           อย่าปฏิเสธการช่วยเหลือจากข้อมูลอื่นในการตีความหมาย เช่น พจนานุกรม ศัพท์สัมพันธ์ หนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง และหนังสืออธิบายข้อพระคัมภีร์ อย่างไรก็ดี ในการตีความหมายข้อพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง ข้อพระคัมภีร์ข้อนั้นต้องมีสิทธิเหนือตัวช่วยอื่นๆ

           ไม่ว่าจะเป็นหลักวิทยาศาสตร์ หรือตัวช่วยอันดับรอง ความคิดเห็นใดๆ จะต้องได้รับการประเมินผลอย่างระมัดระวังจากจุดยืนของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ถ้ามีความขัดแย้งใดเกิดขึ้นจากตีความหมาย พระคัมภีร์เท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจในการตัดสินตัวช่วยอื่น เราไม่ควรทำสิ่งใดที่ขัดกับพระวจนะในพระคัมภีร์ คริสเตียนแท้ ย่อมมีความมั่นใจในการเทศนาสั่งสอนพระกิตติคุณตามที่ได้รับมอบหมายจากพระคริสต์ และสิทธิอำนาจจากพระ-คัมภีร์

          “พระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นเจ้านายแท้และเป็นนายเหนืองานเขียนทั้งหมด และเอกสารอื่นๆ บนแผ่นดินโลก” (Martin Luther, “ Luther’s Works, เล่ม 32 ; Career of the Reformer II, eds. Hilton C. Oswald and Helmut T. Lehmann, เล่ม 32 (Philadelphia: Fortress Press, 1999) หน้า 11, 12

          อ่านพระธรรมกิจการฯ 17:10-11 พระคัมภีร์สองข้อนี้บอกเราว่า ผู้คนที่ถูกล่าวถึงตรงนี้ให้ความสำคัญอย่างสูงสุดแก่พระคัมภีร์อย่างไร

------------------------------------------------------

27 เมษายน

วันจันทร์  

 เอกภาพของพระคัมภีร์  The Unity of Scripture

 

          พระคัมภีร์อ้างตัวเองว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า” (2 ทิโมธี 3:16) และในเรื่องของคำพยากรณ์ พระคัมภีร์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจข้อนี้ก่อน คือผู้หนึ่งผู้ใดจะตีความหมายคำของผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เอาเองไม่ได้เพราะว่าคำของผู้เผยพระวจนะนั้น ไม่ได้มาจากความประสงค์ของมนุษย์เลย แต่มนุษย์กล่าวคำซึ่งมาจากพระเจ้า ตามที่พระวิญ-ญาณบริสุทธิ์ทรงดลใจเขา” (2 เปโตร 1:20, 21) และในฐานะที่พระเจ้าทรงเป็นผู้ประพันธ์หนึ่งเดียวของพระคัมภีร์ทั้งเล่ม เราสามารถสันนิษฐานถึงพื้นฐานของพระคัมภีร์ได้ว่า พระคัมภีร์เป็นเอกภาพและสอดประสานกัน

          อ่านพระธรรมทิตัส 1:9 และ 2 ทิโมธี 1:13 เพราะเหตุใดความเป็นเอกภาพของพระคัมภีร์จึงมีความสำคัญสำหรับความเชื่อของเรา

          พื้นฐานความเป็นเอกภาพในพระคัมภีร์ได้รับจากการดลใจโดยพระ-วิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า พระคัมภีร์จึงสามารถทำหน้าที่ในการตีความหมายตัวเองได้ ถ้าพระคัมภีร์ไม่มีความเป็นเอกภาพ เราไม่อาจพูดว่า พระคัมภีร์สอดประสานกันในหลักความเชื่อแต่ละข้อได้ ถ้าปราศจากความเป็นเอกภาพของพระคัมภีร์ คริสตจักรย่อมจะไม่มีความจริง และไม่มีระเบียบวินัยหรือหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขผู้ที่มีความเชื่อต่างไปจากความจริงของพระเจ้า พระคัมภีร์ก็จะขาดอำนาจและความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดีพระเยซูและผู้เผยพระวจนะของพระคัมภีร์ เชื่อความเป็นเอกภาพของพระคัมภีร์ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากพระเจ้า เราสามารถเห็นสิ่งนี้ในแนวปฏิบัติอย่างเดียวกัน คือการอ้างอิงจากหนังสือพระคัมภีร์เดิมและสอดประสานกัน เช่น โรม 3:10-18 ตรงกับพระคัมภีร์เดิมหลายข้อ (จาก ปัญญาจารย์ 7:20; สดุดี 14:2, 3; 5:9; 10:7; อิสยาห์ 59:7, 8)

          ผู้เขียนพระวจนะตระหนักว่าพระคัมภีร์ทั้งเล่มเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันตามหัวข้อหลักและเจริญขึ้น ไม่มีคำว่าความไม่ลงรอยกัน ระหว่างพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ พระคัมภีร์ใหม่ไม่ได้บรรจุ “พระกิตติคุณใหม่” หรือศาสนาใหม่ พระคัมภีร์เดิมถูกเปิดออกมาในพระ-คัมภีร์ใหม่ และพระคัมภีร์ใหม่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของพระคัมภีร์เดิม พระ-คัมภีร์ทั้งสองภาคจึงมีความสัมพันธ์กัน ต่างส่องแสงให้กันและกัน

          ความเป็นเอกภาพของพระคัมภีร์บอกเป็นนัยว่า พระคัมภีร์ทั้งหมดควรถูกนำมาสู่การพิจารณา เมื่อเราศึกษาหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งของพระคัมภีร์ มากกว่าที่จะเสริมสร้างคำสอนของเราขึ้นจากข้อพระคัมภีร์เพียงตอนเดียวเท่านั้น

         เราควรทำอะไรเมื่อเราอ่านหรือศึกษาพระคัมภีร์ และเมื่อมีรู้สึกว่าบางข้อความมีความขัดแย้งกัน ควรทำอย่างไร

 

               ------------------------------------------------

28 เมษายน

วันอังคาร

ความชัดเจนของพระคัมภีร์ 

                        The Clarity of Scripture

          ข้อความใดของพระคัมภีร์เพียงข้อเดียว จะมีเหตุผลเล็กน้อย ถ้าความหมายของพระคัมภีร์ข้อนั้นไม่ชัดเจน

         อ่านพระธรรมมัทธิว 21:42; มัทธิว 12:3, 5; มัทธิว 19:4; มัทธิว 22:31; มาระโก 12:10, 26; ลูกา 6:3; มัทธิว 24:15 และ มาระโก 13:14 การกล่าวทวนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ของพระเยซู บอกอะไรเป็นนัยเกี่ยวกับความชัดเจนของข่าวสาร

พระคัมภีร์ไม่มีอะไรน่าสงสัยเพราะสอนได้ชัดเจนเพียงพอจนเด็กและผู้ใหญ่สามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะหัวข้อที่เป็นคำสอนพื้นฐาน แต่ก็มีความรู้ระดับลึกที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอธิบายจึงจะเข้าใจได้ เพราะคำสอนพื้นฐานของพระคัมภีร์สามารถเป็นที่เข้าใจสำหรับทุกคน ผู้เชื่อทุกคนจึงควรศึกษาและตีความพระคัมภีร์เพื่อตนเอง แทนที่จะจำกัดการตีความหมายไว้กับคนเพียงไม่กี่คนให้ทำหน้าที่เป็นปุโรหิตเท่านั้น พระคัมภีร์มีความเรียบง่าย มีเหตุผลตามตัวอักษร ยกเว้นบางข้อที่มีเครื่องหมายแสดงเจตนาไว้ชัดเจนเท่านั้น ไม่เหมือนผลไม้เปลือกแข็งที่ต้องปอกจึงจะเข้าถึงเนื้อใน ไม่ใช่สิ่งลึกลับที่ถูกซ่อนไว้ หรือมีความหมายแฝงที่ผู้ริเริ่มเท่านั้นจะเปิดออกได้ Handbook of Seventh-day AdventistTheology (Hagerstown, MD: Review and Herald Publishing Asssociation, 2000, page 65) ความชัดเจนของพระคัมภีร์ขึ้นอยู่กับการใช้ภาษา การแสดงความรู้สึก และถ้อยคำของพระ-คัมภีร์ เพราะมีความหมายเจาะจงที่ผู้เผยพระวจนะตั้งใจจะสื่อให้รู้มากกว่าความหมายแบบกว้างๆ แต่บางครั้งเราก็เข้าใจได้ไม่กระจ่าง เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ล้มลงในความบาป อย่างไรก็ดีพระวจนะของพระเจ้ามีความชัดเจนเพียงพอที่จะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เราต้องการ โดยเฉพาะเรื่องความรอด

คิดย้อนหลังไปเกี่ยวกับเวลาที่คุณไม่เข้าใจพระคัมภีร์บางข้อ แต่ต่อมาก็ได้รับความกระจ่าง คุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นั้น และประสบการณ์นี้สามารถช่วยคนอื่นให้เข้าใจพระคัมภีร์ได้อย่างไร

 

              -----------------------------------------------

29 เมษายน

วันพุธ

พระคัมภีร์ตีความหมายพระคัมภีร์   Scripture Interprets Scripture

 

          เพราะพระคัมภีร์เป็นเอกภาพ พระคัมภีร์จึงสามารถตีความหมายตัวเองได้ ถ้าปราศจากความเป็นเอกภาพ พระคัมภีร์ไม่อาจส่องให้เห็นความหมายของตัวเอง พระคัมภีร์บางข้อตีความหมายพระคัมภีร์ข้ออื่น นี่คือกุญแจสู่ความเข้าใจพระคัมภีร์ด้วยการเชื่อมโยง

             อ่าน ลูกา 24:27, 44, 45 พระเยซูทรงอ้างพระคัมภีร์เดิม เพื่ออธิบายว่าพระองค์เป็นใคร สิ่งนี้สอนเราเรื่องการใช้พระคัมภีร์ได้อย่างไร

             ข้อดีของการใช้พระคัมภีร์ตีความหมายพระคัมภีร์ คือให้พระคัมภีร์ส่องแสงแก่ตัวเองมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องไปคิดอะไรเพิ่มเติมมาก สิ่งที่เราทำคือระมัดระวังบริบทของแต่ละตอนให้ถูกต้องเท่านั้น ตามที่อัครทูตเปาโลกล่าวว่า “เพราะว่าสิ่งที่เขียนไว้ในสมัยก่อนนั้น ก็เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเรา เพื่อเราจะได้มีความหวังโดยความทรหดอดทน และโดยการหนุนใจจากพระคัมภีร์” (โรม 15:4) เราควรศึกษาพระคัมภีร์ทั้งเล่มที่พูดถึงหัวข้อที่เราศึกษา “พระคัมภีร์เป็นผู้อธิบายตัวเอง นำพระคัมภีร์ข้อหนึ่งไปเปรียบเทียบกับอีกข้อหนึ่ง นักเรียนต้องดูภาพรวมของเรื่องทั้งหมดและดูความสัมพันธ์ของแต่ละส่วน เขาต้องได้รับความรู้ที่เป็นหัวใจหลักของเรื่อง เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับโลก เกี่ยวกับต้นกำเนิดของความขัดแย้งอันยิ่งใหญ่และพันธกิจการไถ่บาป” (เอลเลน จี. ไว้ท์, การศึกษา, หน้า 190) เป็นสิ่งสำคัญที่จะศึกษาพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนด้วยการเปรียบเทียบพระคัมภีร์แต่ละข้อ ถ้าเป็นไปได้ควรศึกษาต้นฉบับภาษาเดิม หรืออย่างน้อยให้ใช้พระคัมภีร์ที่ได้รับการแปลอย่างถูกต้องจากต้นฉบับภาษาฮีบรูและภาษากรีก แม้ความรู้ด้านภาษาต้นฉบับบางตอนอาจเข้าใจได้ยาก แต่ก็สามารถช่วยเราได้เมื่อต้องการ ถ้าศึกษาจากภาษาเดิมไม่ได้ ก็ให้อธิษฐานและศึกษาอย่างสัตย์ซื่อด้วยความถ่อมใจแล้วจะได้ผลแน่นอน

                จงพิจารณาหลักคำสอน เช่น “สภาพของคนตาย” ถ้าศึกษาจากพระคัมภีร์เพียงไม่กี่ข้อ โดยละเลยข้ออื่นที่กล่าวถึงความตาย อาจทำให้เข้าใจผิดได้ สิ่งนี้สอนเราว่าจำเป็นต้องรวบรวมข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับแต่ละหัวข้อมาศึกษาด้วยกันจึงจะเข้าใจพระคัมภีร์ได้ถูกต้อง

 

            -----------------------------------------------

30 เมษายน

 วันพฤหัสบดี       

พระคัมภีร์เท่านั้นและ เอลเลน จี. ไว้ท์  

Sola Scriptura and Ellen G.White

 

          อ่านพระธรรมอิสยาห์ 8:20 เพราะเหตุใดการอ้างข้อพระคัมภีร์จึงสำคัญ “ไปดูธรรมบัญญัติและถ้อยคำพยาน” นี่คือมาตรฐานของการสอนหลักความเชื่อของเรา สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรสำหรับผู้เผยพระวจนะ

เมื่อพูดถึง “พระคัมภีร์เท่านั้น” เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญกับคำถามเกี่ยวกับนาง เอลเลน จี. ไว้ท์ ที่อ้างว่าได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นผู้สื่อข่าวสำหรับพลไพร่กลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ของพระเจ้า คำถามคือ งานเขียนของ เอลเลน จี. ไว้ท์ เกี่ยวพันกับพระคัมภีร์อย่างไร

          ถ้าอ่านงานเขียนของ เอลเลน จี. ไว้ท์ อย่างคร่าวๆ จะเห็นว่าสำหรับนางแล้ว พระคัมภีร์เป็นพื้นฐาน และเป็นศูนย์กลางของความคิดและศาสน-ศาสตร์ทั้งหมด บ่อยครั้งที่นางยืนยันว่า พระคัมภีร์เป็นสิทธิอำนาจ และเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับหลักความเชื่อ และหลักปฏิบัติทั้งหมด (สงครามแห่งประวัติศาสตร์, หน้า 595) ยิ่งกว่านั้นนาง เอลเลน จี. ไว้ท์ สนับสนุนและยกระดับหลักการของโปรเตสแตนต์ที่เชิดชู “พระคัมภีร์เท่านั้น” อย่างชัดเจน (สงครามแห่งประวัติศาสตร์, หน้า 9) ความเห็นในงานเขียนของนางเมื่อเทียบกับพระคัมภีร์ งานเขียนของนาง “เป็นแสงสว่างดวงเล็กที่นำชายและหญิงไปสู่แสงสว่างดวงใหญ่” คือพระคัมภีร์ (Advent Review and Sabbath Herald, 20 มกราคม 1903) งานเขียนของนางไม่เคยเป็นทางลัดหรือแทนที่พระคัมภีร์ นางแนะนำว่า “ท่านไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ หากท่านได้นำพระวจนะของพระเจ้ามาศึกษา ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าถึงมาตรฐานความสมบูรณ์ของชีวิตคริสเตียนแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือคำพยานของของข้าพเจ้า แต่เพราะท่านได้ละเลยที่จะทำให้ตนคุ้นเคยกับพระธรรมที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าที่ผู้เผยพระวจนะเขียนขึ้น พระองค์จึงหาวิธีจะเข้าถึงพวกท่านด้วยคำพยาน” (เอเลนเลน จี. ไว้ท์, คำพยานสำหรับคริสตจักร, เล่ม 2,หน้า 605) ในลักษณะเช่นนี้ งานเขียนของ เอลเลน จี. ไว้ท์ ดูมีคุณค่า เพราะได้รับการดลใจแบบเดียวกับผู้เขียนพระคัมภีร์ แต่งานเขียนของนางทำต่างไปจากพระคัมภีร์ งานเขียนของนางไม่ได้เพิ่มเข้ากับหน้าพระคัมภีร์ แต่อยู่ใต้สังกัดของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ นางไม่เคยมีเจตนาให้งานเขียนของนางเข้ามาแทนที่พระคัมภีร์ แต่ให้ทำหน้าที่เชิดชูพระคัมภีร์ เพราะพระคัมภีร์เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวสำหรับความเชื่อและการปฏิบัติ

          คิดเกี่ยวกับข่าวสารที่พระเจ้าทรงประทานให้เราผ่าน เอลเลน จี. ไว้ท์ เราจะเห็นคุณค่าของแสงสว่างอันน่าทึ่งที่มาจากงานเขียนของนางและเทิดทูนพระคัมภีร์ขึ้นสูงสุดได้อย่างไร

 

            ---------------------------------------------

1 พฤษภาคม 2020

วันศุกร์    

ศึกษาเพิ่มเติม:

          อ่านการตีความหมาย Handbook of Seventh-day Adventist Theology อ่านตอนที่คล้ายกันในพระคัมภีร์: พระคัมภีร์ตีความหมายตัวเอง พระคัมภีร์มีความมั่นคงยั่งยืนและมีความชัดเจน, หน้า 64-66 อ่านบทที่ 20 พระคัมภีร์ใช้ในการสอนและการศึกษา, หน้า 185-192; ความเป็นอันดับหนึ่งของพระวจนะ, Selected Message, เล่ม 3, หน้า 29-33)

                                                                                                                                                                                                  “นักศึกษาพระคัมภีร์ควรได้รับการสอนให้เข้าหาพระคัมภีร์ด้วยจิตวิญญาณของผู้เรียน เราต้องค้นหาแต่ละหน้ามิใช่เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของเรา แต่เพื่อให้รู้สิ่งที่พระเจ้าตรัส ความรู้ที่แท้จริงของพระคัมภีร์จะได้รับผ่านพระวิญญาณที่ทรงดลใจให้คนเขียนพระคัมภีร์ขึ้นเท่านั้น และเพื่อที่จะได้รับความรู้นี้ เราต้องดำเนินชีวิตตาม ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาเราต้องเชื่อฟัง... การศึกษาพระคัมภีร์จะต้องทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เหมือนคนขุดหาทองในเหมืองทอง พวกเขามีความกระตือรือร้น และยืนหยัดไม่ลดละ เราก็ต้องทำแบบเดียวกัน” (เอลเลน จี. ไว้ท์, การศึกษา, หน้า 189)

          “เมื่อท่านให้พระวจนะเป็นอาหารดุจเนื้อหรือเครื่องดื่ม เมื่อท่านทำจนเป็นนิสัย ท่านจะทราบว่าท่านได้รับคำแนะนำจากพระเจ้าได้อย่างไร” เอลเลนไว้ท์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเทิดพระวจนะอันล้ำค่าให้สูงขึ้นต่อท่านทั้งหลายในวันนี้ อย่าทำผิดซ้ำจงค้นหาว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งอิสราเอลตรัสอะไร และทำตามสิ่งที่พระองค์ทรงพระบัญชา” (เอลเลน จี. ไว้ท์, Selected Messages, เล่ม 3, หน้า 33)

 

คำถามเพื่อการอภิปราย:

1. การมองไปที่พระคัมภีร์ที่เลือกไว้เพียงไม่กี่ข้อ ทำให้ความเชื่อผิด พลาดได้อย่างไร

2. พระเยซูตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ในบรรดาคนซึ่ง เกิดจากผู้หญิงนั้น ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่ายอห์นผู้ให้บัพติศมา แต่ ว่าผู้ที่เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ก็ยังใหญ่กว่ายอห์นอีก” (มัทธิว 11:11) ข้อความนี้กล่าวถึงยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาใน ฐานะผู้เผยพระวจนะ สิ่งนี้สอนเราว่าผู้เผยพระวจนะแท้ไม่จำเป็น ต้องเขียนพระคัมภีร์ และสิ่งนี้เป็นหลักฐานสนับสนุนพันธกิจของ เอลเลน จี. ไว้ท์ ตามความเชื่อของเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสอย่างไร

3. ในฐานะที่เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสเป็นโปรเตสแตนต์ที่เชื่อเรื่อง สิทธิอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของพระคัมภีร์เช่นเดียวกับหลายๆ คณะ แต่หลักความเชื่อของแต่ละคณะก็ยังไม่ตรงกันทั้งหมด เรา จะอธิบายสิ่งที่แต่ละคณะอ้างว่าพวกเขาได้รับหลักความเชื่อนั้น จากพระคัมภีร์อย่างไร

   

                                      Previous/บทที่แล้ว  Nex/บทต่อไป  Contents/สารบํญ