Thai SDA Church

Smile to the World and the World will smile back at you.

Chapter 7:ภาษาข้อความ และบริบท

 

บทที่ 7

ภาษาข้อความ และบริบท

Language, Text and Context

วันที่ 9 – 15 พฤษภาคม 2020

9  พฤษภาคม 2020

บ่ายวันสะบาโต

อ่านข้อพระคัมภีร์สำหรับบทเรียนสัปดาห์นี้

เฉลยธรรมบัญญัติ 32:46, 47; 1 พงศ์กษัตริย์ 3:6; กันดารวิถี 6:24-26; ปฐมกาล 1:26, 27; ปฐมกาล 2:15-23; 15:1-5

ข้อควรจำ

    “จงรับหนังสือแห่งธรรมบัญญัตินี้วางไว้ข้างหีบพันธ-สัญญาแห่งพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ให้อยู่ที่นั่นเพื่อเป็นพยานปรักปรำท่าน” (เฉลยธรรมบัญญัติ 31:26)

 มีภาษาพูดทั่วโลกมากกว่า 6,000 ภาษา ท่ามกลางจำนวนประชากรโลกหลายพันล้านคน พระคัมภีร์ทั้งเล่มได้รับการแปลและพิมพ์ไปแล้วกว่า 600 ภาษา ฉบับแปลเฉพาะพระคัมภีร์ใหม่หรือบางส่วนได้รับการแปลและพิมพ์ออกแล้วกว่า 2,500 ภาษาเช่นกัน นับว่าพระคัมภีร์ได้รับการแปลและพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากทีเดียว แต่ก็ยังน้อยกว่าครึ่งของจำนวนของภาษาที่ใช้ทั่วโลก

     มีการคำนวณกันว่า คนประมาณ 1,500 ล้านคน ไม่มีพระคัมภีร์ฉบับแปลเต็มทั้งเล่มเป็นภาษาแรกของพวกเขา จึงยังมีงานอีกมากที่จะต้องทำให้เสร็จ ความพยายามของสมาคมพระคัมภีร์ได้ให้ความมั่นใจว่า คน 6,000 ล้านคนสามารถอ่านพระคัมภีร์ได้

      มีพระพรอะไรอยู่ท่ามกลางคนที่มีพระคัมภีร์เป็นภาษาของตน บ่อยครั้งเราก็สักแต่ว่ามีพระคัมภีร์เท่านั้น โดยลืมไปว่ามีคนจำนวนมากในช่วงหลายศตวรรษในทวีปยุโรป ที่ผู้มีอิทธิพลในเวลานั้นเก็บพระคัมภีร์ไว้ไม่ให้คนทั่วไปอ่าน การปฏิรูปศาสนา ทำให้มีการแปลพระคัมภีร์ บวกกับการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ทำให้มีการพิมพ์พระคัมภีร์ออกมามากขึ้นในเวลาที่ผ่านมา การจำกัดไม่ให้มีการอ่านพระคัมภีร์ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป แต่ปัญหาคือคนที่มีพระคัมภีร์จริงจะอ่านให้เข้าใจเพื่อรับการเติมเต็มด้วยพระวิญญาณได้อย่างไร และจะเรียนรู้จักพระเจ้าจากพระคัมภีร์ได้อย่างไร

_________________________________________________

10 พฤษภาคม 2020

วันอาทิตย์ การเข้าใจพระคัมภีร์

Understanding the Scriptures

     อ่านพระธรรม 2 ทิโมธี 3:16, 17 พระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรในการประทานพระคัมภีร์ให้เรา
  พระคัมภีร์ได้รับการเขียนขึ้นเพื่อเป็นพยานให้พันธกิจของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ แผนการของพระองค์คือการไถ่เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ล้มลงในความบาป พระองค์ทรงเลือกภาษาของมนุษย์เพื่อสอนเราถึงความชอบธรรม และทรงเลือกชนชาติอิสราเอลให้นำข่าวสารของพระองค์ไปสู่ประชาชาติทั่วโลก พระองค์ทรงให้ชนชาตินี้สื่อข่าวสารของพระองค์ผ่านภาษาฮีบรูของพวกเขา และมีข่าวสารบางส่วนที่เขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมคด้วย ความรุ่งเรืองขึ้นของอารยธรรมกรีก ทำให้ภาษากรีกถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้พระคัมภีร์ใหม่ได้รับการเขียนเป็นภาษากรีก และมีการแปลพระ-คัมภีร์เดิมเป็นภาษากรีกด้วย อัครทูตและสาวกในสมัยคริสตจักรเริ่มแรกใช้ภาษากรีกในการเผยแพร่พระกิตติคุณ หลังการสิ้นพระชนม์และการฟื้นพระ-ชนม์ของพระเยซู เหล่าสาวกได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ ยอห์น “เป็นพยานให้กับพระวจนะของพระเจ้า และให้กับคำพยานของพระเยซูคริสต์ คือทุกสิ่งที่ท่านเห็น” (วิวรณ์ 1:2) พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่าสาวกได้รับการดลใจให้ออกไปเป็นพยานถึงข่าวสารในพระคัมภีร์ตั้งแต่เล่มแรกถึงเล่มสุดท้าย

     อ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 32:46, 47 เพราะเหตุใดชาวอิสราเอลจึงต้องเชื่อฟัง “ถ้อยคำทั้งหมดของธรรมบัญญัตินี้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:46) ที่เป็นพระวจนะของพระเจ้ามาจนถึงสมัยของเราด้วย

      คนบางกลุ่มอาจมีพระคัมภีร์หลายฉบับเป็นภาษาของตัวเอง บางกลุ่มอาจมีเพียงฉบับเดียว แต่ไม่ว่าเขาจะมีกี่ฉบับ กุญแจสำคัญคือ การเก็บรักษาพระวจนะของพระเจ้าไว้ด้วยความรักและทำตามพระวจนะนั้น

       เพราะเหตุใดจึงไม่ใช่ “เรื่องเล็กน้อย” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:47) ที่จะเชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า และสอนพระวจนะนั้นให้ลูกหลาน

 

_________________________________________________

11 พฤษภาคม 2020

วันจันทร์ คำและความหมาย

Words and Their Meanings

      ในทุกภาษาจะมีบางคำที่มีความหมายกว้างและลึก ที่ยากจะแปลเป็นภาษาอื่นให้ได้ความหมายครบถ้วนด้วยคำเพียงคำเดียว คำเช่นนั้นต้องศึกษาให้ดีว่าจะใช้คำใดในการแปลพระคัมภีร์ จึงจะได้ความหมายที่ชัดเจน

           อ่าน 1 พงศ์กษัตริย์ 3:6; สดุดี 57:3; สดุดี 66:20; สดุดี 143:8 และ มีคาห์ 7:20 พระเจ้าทรงเมตตาต่อมนุษย์อย่างไร

      คำว่า “chesed” (ความรักมั่นคง) ในภาษาฮีบรู เป็นคำที่มีความหมายกว้างและลึกมากในพระคัมภีร์เดิม คำนี้บรรยายถึงความรัก ความเมตตา และท่าทีที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ “พระองค์ทรงสำแดงความรักอันมั่นคงยิ่งใหญ่แก่ดาวิด ผู้เป็นบิดาของข้าพระองค์ และผู้รับใช้ของพระองค์ เพราะว่าท่านดำเนินต่อพระพักตร์พระองค์ด้วยความซื่อสัตย์ และความชอบธรรม ด้วยจิตใจซื่อตรงต่อพระองค์ และพระองค์ทรงรักษาความรักมั่นคงอันยิ่งใหญ่นี้ไว้เพื่อท่าน” (1 พงศ์กษัตริย์ 3:6) “พระเจ้าจะทรงส่งความรักมั่นคงและความซื่อสัตย์ลงมา” (สดุดี 57:3) “พระองค์จะทรงสำแดงความสัตย์ซื่อแก่ยาโคบและความรักมั่นคงต่ออับราฮัม” (มีคาห์ 7:20) คำที่ขีดเส้นใต้แปลมาจากคำว่า “chesed” ที่บรรยายถึงความรัก ความเมตตาของพระเจ้า 

       อ่านพระธรรมกันดารวิถี 6:24-26; โยบ 3:26; สดุดี 29:11; อิสยาห์ 9:6 และ อิสยาห์ 32:17 ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กล่าวถึง “shalom” (สวัสดีภาพ) หรือ (สันติสุข) อย่างไร

       คำว่า “shalom” (ชาโลม) บ่อยครั้งถูกแปลว่า “สันติสุข” แต่คำนี้มีความหมายที่กว้างและลึกกว่านั้น สามารถแปลได้ว่า ทั้งหมด (wholeness) ครบถ้วน (completeness) หรือสวัสดีภาพ (well-being) พระพรของพระเจ้าและพระคุณของพระองค์ช่วยให้เราให้อยู่ในสภาพ “shalom” (กันดารวิถี 6:24-26) ความทุกข์ยากทำให้โยบอยู่ในสภาพไม่สบายทั้งกายและใจ หรือไม่สงบสุข เพราะขาดสันติสุข (shalom) การอาศัยอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวาย จะเป็นพรอย่างมากที่ได้ต้อนรับวันสะบาโตด้วยคำว่า “สุขสันต์วันสะบาโต” (Shabbat shalom) เพื่อสื่อสารกับพระเจ้าที่ทรงประทานสันติสุขที่สมบูรณ์ให้แก่เรา

      แม้เราจะไม่ทราบความหมายเดิมของคำในภาษาที่เราพูดหรืออ่าน แต่เราสามารถมีประสบการณ์จริงที่ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำนั้นได้อย่างไร

 

________________________________________________

 

12 พฤษภาคม 2020

วันอังคาร การซ้ำ รูปแบบของคำ และความหมาย

Repetition, Word Patterns and Meaning

       ตามความคิดของชาวฮีบรู มีหลายวิธีที่จะเน้นคำให้มีความหมายหรือความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากชาวยุโรป ภาษาฮีบรูไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน จึงใช้วิธีอื่นในการเน้นคำ

        อ่านปฐมกาล 1:26, 27 และอิสยาห์ 6:1-3 มีคำใดที่ถูกกล่าวซ้ำในที่นี้ คำที่กล่าวซ้ำเหล่านี้ ถูกยกระดับขึ้นให้แตกต่างอย่างไร

     ผู้เขียนชาวฮีบรูกล่าวถึงลักษณะของการสร้างบางอย่างซ้ำสามครั้ง เช่นเรื่องการทรงสร้างมนุษย์ของพระเจ้า พระคัมภีร์ใช้คำว่า “bara” (สร้างขึ้น) พระคัมภีร์เขียนไว้ว่า “พระเจ้าจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และทรงสร้างให้

เป็นชายและหญิง” (ปฐมกาล 1:27) ในที่นี้คำว่า “ทรงสร้าง” มีการซ้ำถึงสามครั้ง โมเสสผู้รับการดลใจให้เขียนพระธรรมปฐมกาล ได้ย้ำว่า มนุษย์ทั้งมวลถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า และพวกเขาถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาของพระองค์ นี่คือสิ่งสำคัญที่โมเสสเน้น

      ในพระธรรมอิสยาห์ได้บรรยายถึงเสียงร้องของเสราฟิมว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระยาห์เวห์จอมทัพ แผ่นดินโลกทั้งสิ้นเต็มไปด้วยพระศิริของพระองค์” (อิสยาห์ 6:3) เน้นถึงความบริสุทธิ์ของพระเจ้าผู้น่าเกรงขาม ผู้ซึ่งเสด็จมาด้วยพระรัศมีเต็มพระวิหาร เราได้อ่านถึงความบริสุทธิ์ผ่านถ้อยคำของผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ ขณะที่ท่านยืนต่อพระพักตร์องค์พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่ ว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า เพราะว่าข้าพเจ้าพินาศแล้ว เพราะข้าพเจ้าเป็นคนริมฝีปากไม่สะอาด และข้าพเจ้าอยู่ท่ามกลางชนชาติที่ริมฝีปากไม่สะอาด แต่ดวงตาของข้าพเจ้าได้เห็นกษัตริย์ คือพระยาห์เวห์จอมทัพ” (อิสยาห์ 6:5)แม้แต่ผู้เผยพระวจนะอย่างอิสยาห์ เมื่อเห็นความบริสุทธิ์ของพระเจ้า ท่านได้ก้มศีรษะลง จิตใจยำเกรง เห็นความไร้ค่าของตน สิ่งนี้เกิดก่อนที่เปาโลจะกล่าวว่ามนุษย์เต็มไปด้วยบาปและต้องการพระผู้ช่วยให้รอด (โรม บทที่ 1-3)

       ในดาเนียล บทที่ 3 มีการกล่าวซ้ำคำว่า “ปฏิมากร” (ดาเนียล 3:1,2, 3, 5, 7, 10, 12, 14, 15, 18) ที่กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์สร้างขึ้นสิบครั้ง โดยเปลี่ยนวลีและประโยค แสดงให้เห็นการกระทำของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ต่อต้านพระฉายาของพระเจ้าที่ทรงเปิดเผยให้ทราบผ่านดาเนียล (ดาเนียล 2:31-45) นี่เป็นการเน้นถึงมนุษย์ที่พยายามสร้างพระขึ้นมานมัสการแทนพระเจ้าที่แท้จริง

_________________________________________________

13 พฤษภาคม 2020

วันพุธ ข้อความและบริบท

Texts and Contexts

        คำในพระคัมภีร์จะไม่อยู่ตามลำพัง แต่อยู่รวมกับคำอื่นเป็นบริบท คำจะมีความหมายตามบริบทที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละประโยค ต้องเข้าใจความหมายของคำในประโยคก่อนที่จะเข้าใจความหมายในบริบทที่กว้างขึ้นของเรื่องทั้งหมด จึงจะสรุปความหมายได้ถูก

      เปรียบเทียบ ปฐมกาล 1:27 กับปฐมกาล 2:7 และ ปฐมกาล 2:15-23 เราเข้าใจข้อความต่างๆ ในพระคัมภีร์เหล่านี้ที่กล่าวถึง “อาดัม” ที่พระคัมภีร์ภาษาฮีบรูเรียกว่า “มนุษย์” หรือ “ผู้ชาย” อย่างไร

       มีการซ้ำคำว่า “ทรงสร้าง” (bara) ในปฐมกาล 1:27 ที่บ่งชี้ถึงความสำคัญของการทรงสร้างมนุษย์ ตอนนี้เราเห็นคำว่า “มนุษย์” (Man) ถูกจำกัดความหมายในบริบทของ “ชายและหญิง” ซึ่งหมายความว่าคำในภาษาฮีบรู “อาดัม” จะต้องมีความหมายเป็นต้นตระกูลของมนุษยชาติ

         ในปฐมกาล 2:7 คำว่า “มนุษย์” (Man) อธิบายถึงรูปร่างของอาดัมที่เกิดจากผงคลีดิน (ในภาษาฮีบรูคำว่า “adamah” เป็นการเล่นคำ) ตรงนี้ “มนุษย์” (อาดัม) เป็น “ผู้ชาย” สำหรับ “เอวา” ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง แต่แยกรายละเอียดเท่านั้น จากคำอธิบายในสองบริบทนี้ เราจะเห็นคำจำกัดความที่แตกต่างของ “อาดัม” (มนุษย์) (ปฐมกาล 1:27) และ “อาดัม” (ผู้ชาย) (ปฐมกาล 2:7) อาดัมเป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองในลำดับวงศ์ตระกูลของมนุษย์ (ปฐมกาล 5:1-5; 1 พงศาวดาร 1:1; ลูกา 3:38) ซึ่งอิงถึงถึงพระเยซู ผู้เป็นอาดัมคนที่สองด้วย (โรม 5:12-14)

       คำว่า “อาดัม” (มนุษย์) เกิดขึ้นในข้อพระคัมภีร์ที่เจาะจง ดังนั้นการสร้าง “อาดัมและเอวา” จึงอยู่ในบริบทของการทรงสร้างที่ใหญ่กว่า ตามที่เห็นในปฐมกาล บทที่ 1-2 สำหรับปฐมกาล 2:4-25 บางครั้งถูกเรียกว่าการทรงสร้างครั้งที่สอง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นเพียงการอธิบายซ้ำเท่านั้น (ดูบทต่อไป) 

    เราเห็นมนุษย์ที่เป็นชายและหญิงเป็นผลงานจากการทรงสร้างของพระเจ้า สิ่งนี้ได้บอกอะไรแก่เราว่า “พระเจ้าทรงทำให้ปัญญาฝ่ายโลกเป็นความโง่แล้วไม่ใช่หรือ” (1 โครินธ์ 1:20) แท้จริงแล้วเป็นการสอนว่า เรามาจากการทรงสร้างมากกว่าความบังเอิญ

_________________________________________________

14  พฤษภาคม 2020

วันพฤหัสบดี พระธรรมแต่ละเล่มและข่าวสาร

Books and Their Message

       หน่วยใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์คือพระธรรมแต่ละเล่ม พระธรรมแต่ละเล่มถูกเขียนขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และมีความเป็นมาที่แตกต่างกัน บางเล่มเป็นคำพยากรณ์ บางเล่มเป็นการรวม เช่น สดุดี บางเล่มเป็นประวัติศาสตร์ เช่น 1 และ 2 พงศ์กษัตริย์ และเล่มเป็นจดหมายที่เขียนถึงคริสตจักรต่างๆ เช่นจดหมายของเปาโลและอัครทูตคนอื่นๆ เพื่อให้เข้าใจพระธรรมและความหมายของข่าวสาร เราต้องเริ่มจากพื้นเพของผู้เขียน และสถานการณ์ของปัญหา พระธรรมหลายเล่มมีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้เขียน เช่น พระธรรมห้าเล่มแรกโมเสสเป็นผู้เขียน (โยชูวา 8:31, 32; 1 พงศ์กษัตริย์ 2:3; 2 พงศ์กษัตริย์ 14:6; 21:8; เอสรา 6:18; เนหะมีย์ 13:1; ดาเนียล 9:11- 13; มาลาคี 4:4) สิ่งนี้ได้รับการรับรองโดยพระเยซู (มาระโก12:26; ยอห์น 5:46, 47; ยอห์น 7:19) และอัครทูตหลายท่าน (กิจการฯ 3:22; โรม 10:5) ส่วนบางเล่มไม่มีการระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้เขียน เช่น เอสเธอร์ นางรูธ ซามูเอล และพงศาวดาร

         อ่าน ปฐมกาล 15:1-5 และ ปฐมกาล 22:17, 18 ข่าวสารเหล่านี้มีความสำคัญต่อเราอย่างไร

        พระธรรมอพยพจนถึงเฉลยธรรมบัญญัติ ถูกเขียนขึ้นโดยผู้เผยพระ-วจนะโมเสส หลังจากอพยพ คือเลวีนิติ กันดารวิถี และเฉลยธรรมบัญญัติ แต่ปฐมกาลเป็นพื้นฐาน เป็นประวัติศาสตร์การทรงสร้างของพระเจ้า ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่การเนรมิตสร้างไปจนถึงสมัยของบรรพชน ก่อนพระธรรมอพยพ

       “เมื่อหลายปีผ่านไป โมเสสได้เดินไปตามทุ่งหญ้าเพื่อดูแลแกะของท่านในที่สงบเงียบ ท่านไตร่ตรองถึงชาวอิสราเอลที่ถูกกดขี่ข่มเหง โมเสสคิดถึงพระสัญญาของพระเจ้าที่ได้ทรงทำไว้กับบรรพบุรุษของชาวอิสราเอล และพระ-สัญญานั้นเป็นมรดกตกทอดมา ชาวอิสราเอลเป็นชนชาติที่ได้ถูกเลือกสรรไว้ คำอธิษฐานเพื่อชนอิสราเอลของท่านได้ลอยขึ้นยังสวรรค์วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า เหล่าทูตสวรรค์ได้เหาะลงมาส่องแสงรอบๆ ท่าน ภายใต้การดลใจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านได้เขียนพระธรรมปฐมกาลขึ้น” (เอลเลน จี. ไว้ท์, บรรพชนและผู้เผยพระวจนะ, หน้า 251)

          ในพระธรรมปฐมกาลมีการบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมนุษย์ แต่แผนการไถ่มนุษย์ที่ล้มลงสู่ความบาปให้รอดนั้นมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอับราฮัม แผนการนี้พระองค์ได้สถาปนาขึ้นผ่านอับราฮัม ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นชนชาติใหญ่ พันธสัญญานี้จะรวมไปถึงเชื้อสายของอับราฮัมด้วย (ทั้งเชื้อสายในสายเลือด และโดยความเชื่อในพระเยซูคริสต์) ซึ่งมีข้อความว่า “ดังนั้นเราจะอวยพรเจ้าแน่ เราจะทวีเชื้อสายของเจ้าให้มากขึ้น ดังดวงดาวในท้องฟ้า และดังเม็ดทรายบนฝั่งทะเล” (ปฐมกาล 22:17)

      ความจริงอันยิ่งใหญ่ที่เราได้รับจากพระธรรมปฐมกาลทั้งเล่มคืออะไร และสิ่งนี้บ่งบอกถึงความสำคัญของพระวจนะที่มีต่อความเชื่อของเราอย่างไร

_________________________________________________

15  พฤษภาคม 2020

วันศุกร์

ศึกษาเพิ่มเติม:

อ่านหนังสือของ เอลเลน จี. ไว้ท์, ยอห์น ไวคลิฟฟ (John Wycliffe), หน้า 79-96; Luther Before the Diet, หน้า 145-170, สงครามแห่งประวัติ-ศาสตร์; ให้อ่านตอนที่ 4. a.-j. from the document “Methods of Bible Study,” ซึ่งสามารถหาพบได้ในเว็บไซต์: www.adventistbiblicalreseach.org/materials/bible-interpretation-hermeneutics/methods-bible-study

ในพระวจนะของพระองค์ พระเจ้าทรงมอบความรู้ที่จำเป็นสำหรับความรอดแก่มนุษย์ พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยอมรับว่าเป็นแหล่งสิทธิอำนาจ เปิดเผยพระทัยของพระองค์อย่างไม่ผิดพลาด เป็นมาตรฐานของอุปนิสัย เปิดเผยหลักคำสอน และทดสอบประสบการณ์...กระนั้นข้อเท็จจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระทัยของพระองค์ให้มนุษย์รับรู้ผ่านพระวจนะของพระองค์ ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้สถิตอยู่ด้วยต่อเนื่อง เพื่อทรงนำทางดำเนินชีวิต ในทางที่กลับกัน พระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงประทานพระสัญญาให้ผู้รับใช้พระองค์ เพื่อส่องแสง และนำในปฏิบัติ เนื่องจากพระวิญญาณของพระเจ้าเป็นผู้ดลใจผู้เผยพระวจนะให้เขียนพระคัมภีร์ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่คำสอนของพระวิญญาณจะขัดแย้งกับพระวจนะ” (เอลเลน จี. ไว้ท์, สงครามแห่งประวัติศาสตร์, หน้า 9)

คำถามเพื่อการอภิปราย:

1. ไม่ว่าจะมีพระคัมภีร์กี่ฉบับที่แปลเป็นภาษาของท่าน สิ่งสำคัญที่ ท่านสามารถทำได้เพื่อประโยชน์สูงสุดของตนคือ เรียนรู้จาก พระคัมภีร์เพื่อยอมรับและดำเนินชีวิตตาม

2. พระวจนะของพระเจ้าที่กล่าวว่าพระองค์ทรงมนุษย์ขึ้นมานั้น แตกต่างจากทฤษฎีวิวัฒนาการที่สอนว่ามนุษย์เกิดจากการ วิวัฒนาการเป็นเวลาหลายล้านปี อย่างไรคำสอนเรื่องการทรง สร้างของพระเจ้ามีความสำคัญต่อเราอย่างไร

3. มีเครื่องมืออะไรบ้างที่ท่านสามารถหาได้เพื่อใช้ตีความหมาย พระคัมภีร์ให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น ตามเนื้อหาที่เรียนในสัปดาห์นี้

4. ชาวอิสราเอลได้รับการแนะนำให้สอนลูกหลานของพวกเขาเอง ถึงความจริงอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่พวกเขาได้รับอย่างไร (เฉลย- ธรรมบัญญัติ 4:9) การแบ่งปันพระวจนะของพระเจ้าให้ประโยชน์ อะไรแก่เรา

 

  Previous/บทที่แล้ว  Next/บทต่อไป  Contents/สารบํญ